Atlas

Search

เหล่าทาสจงระวัง 5 โรคร้ายที่เกิดขึ้นกับ ” แมว “

Atlas-Cat-Featured-image-03

สัตว์เลี้ยงทุกตัวต้องการความรัก การดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากเจ้าของ โดยเฉพาะหากถ้าน้องๆ ป่วยก็ต้องระมัดระวังและดูแลให้มาก เพราะสัตว์เลี้ยงไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยให้เราฟังได้ ถ้าพูดถึงโรคภัยไข้เจ็บเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก แน่นอนว่าคงสุนัขและแมวคงเป็นสัตว์เลี้ยงลำดับต้นๆ ที่เราจะนึกถึง บทความนี้ แอทลาส แคท จะพาไปรู้จักโรคร้ายที่มักเกิดขึ้นกับแมว ที่ทาสแมวต้องระวังและหมั่นสังเกตอาการน้องๆ ให้ดี

  1. โรคหัดแมว (Cat distemper) 
    หรืออีกชื่อเรียกคือโรคพาร์โวไวรัส โรคนี้จัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในแมว และกำลังระบาดอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยขณะนี้ด้วย แม้ว่าจะยังระบาดอยู่ในวงแคบ แต่แมวทั่วไปก็สามารถป่วยได้ง่าย โรคหัดแมวเกิดจากเชื้อไวรัสพาร์โวไวรัส ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินอาหารของแมว นอกจากจะพบในแมวแล้ว ยังพบอาการป่วยได้ในสัตว์ตระกูลอื่นอีก เช่น เฟอเร็ต ตัวมิ้งค์ หรือแม้กระทั่งเสือ สิงโต หรือแมวป่า โดยอัตราการตายของโรคนี้มีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มแมวที่ไม่เคยรับวัคซีน แมวอายุน้อย และแมวที่ร่างกายไม่แข็งแรง

    ลักษณะอาการ แมวจะมีอาการซึมลงอย่างเห็นได้ชัด เบื่ออาหาร อาเจียน มีไข้ อาจมีอาการหวัดแทรกซ้อน และยังมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ซึ่งหากอาการท้องเสียรุนแรงจะทำให้แมวเกิดอาการขาดน้ำ และช็อกได้เช่นเดียวกับคน ที่สำคัญจะสังเกตได้จากลักษณะตัว โดยแมวจะมีลำไส้หนาขึ้น ในท้องมีแก๊สเยอะ ในแมวอายุน้อย แมวสามารถตายได้อย่างรวดเร็วหลังจากป่วยไม่นาน

    โรคนี้ติดต่อได้จากการที่แมวดีไปสัมผัสเข้ากับสารคัดหลั่งของแมวป่วย ที่สำคัญยังติดผ่านคนได้ โดยคนจะเป็นพาหะในการนำเชื้อจากแมวป่วยมาติดแมวดี ดังนั้น หากพบแมวที่ป่วยด้วยลักษณะอาการดังกล่าว ให้จับแมวแยกออกจากกันทันที เพราะโรคนี้พบได้ในแมวทุกรุ่นอายุ และเกิดกับแมวได้ทุกตัว ส่วนการป้องกันโรคทำได้โดยพาแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคในทุกปี

  1. โรคหวัดแมว
    เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Feline Viral Rhinotracheitis Virus (FVRC) หรือ Feline Herpevirus (FHV) และ Feline Calici Virus (FCV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่เกิดเฉพาะในแมวเท่านั้น เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ระบาดมากในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง จากการรับเชื้อที่แพร่กระจายในอากาศ นอกจากนี้ โรคนี้ยังอาจเกิดร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia หรือ Bordetella ได้ด้วย และแม้ว่าอัตราการตายของแมวที่ป่วยโรคนี้จะไม่สูง แต่อันตรายต่อลูกแมวหรือแมวที่ไม่แข็งแรง จะเพิ่มอัตราการตายเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

    ถ้าเป็นเชื้อไวรัส FHV แมวที่ป่วยจะมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ จมูกและหลอดลมอักเสบ ร่วมกับอาการเซื่องซึม หายใจลำบาก มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก และเบื่ออาหาร แต่ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส FCV อาการจะรุนแรงกว่า สังเกตได้ชัดที่สุดคือมีแผลหลุมบนลิ้น ซึ่งถ้าหากแมวรู้สึกเจ็บมากก็จะไม่กินอาหาร หากอาการรุนแรงอาจทำให้เชื้อลามลงสู่ปอด จนเยื่อหุ้มปอดอักเสบ และตายในที่สุด

    โรคนี้พบได้ในแมวที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยอัตราการเกิดโรคมีสูงได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นแมวจรนั่นเอง แต่ถ้าเชื้อไวรัสกระจายในอากาศ แมวบ้านก็มีโอกาสติดได้เช่นกัน ดังนั้นการป้องกันโรคจึงทำได้โดยพาแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี และพยายามเลี่ยงที่จะให้แมวที่ไม่มีภูมิคุ้มกันไปอยู่ร่วมปะปนกับแมวอื่น อีกสิ่งที่ต้องระวังก็คือ แม้แมวที่ป่วยจะรักษาหายแล้ว ก็ยังเป็นพาหะนำโรคได้

  1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว
    หรือโรคลิวคีเมีย เกิดจากการติดเชื้อ Feline Leukemia virus เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยในแมว ซึ่งเชื้อที่ว่านี้ก็สามารถติดต่อได้ในแมวทุกสายพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นแมวเลี้ยงหรือแมวป่าก็ตาม

    ลักษณะอาการโดยทั่วไปจะมี 2 กลุ่มอาการ กลุ่มแรก แมวจะมีภูมิต้านทานต่ำลง ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ร่วมกับภาวะโลหิตจาง ส่วนอีกกลุ่ม จะพบก้อนเนื้องอกในแมว เมื่อคลำดูตามร่างกายแมวจะพบก้อนเนื้อมะเร็งกระจายอยู่ทั่วลำตัว ต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบภาวะดีซ่าน ซึ่งบ่งบอกว่าเกิดอาการผิดปกติในกระแสเลือด และเชื้ออาจลามไปทำลายการทำงานของตับและไต

    การติดต่อของเชื้อไวรัสนี้ติดต่อผ่านการสัมผัสน้ำลาย น้ำตา ปัสสาวะ อุจจาระของสัตว์ที่ป่วย โดยแมวที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้นั้น คือ แมวจร หรือแมวที่เจ้าของเลี้ยงแบบปล่อยให้ไปไหน ส่วนมากพบในแมวตัวผู้มากกว่าตัวเมีย ดังนั้น การป้องกันโรคจึงทำได้โดยอย่าพาแมวที่ป่วยมาอยู่รวมปะปนกับแมวดี และควรพาแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคด้วย

  1. โรคเยื่อบุในช่องท้องอักเสบ
    เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus (ชื่อไวรัสเหมือน COVID-19) เชื้อตัวนี้จะคล้ายกับเชื้อที่ก่อโรคลำไส้อักเสบในแมว (Feline enteric coronavirus) แต่รุนแรงกว่า เนื่องจากเป็นเชื้อที่สามารถกลายพันธุ์ได้ และก่อโรครุนแรงขึ้นในแมว

    ลักษณะอาการ ที่สังเกตได้โดยทั่วไปคือแมวจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร น้ำลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ แมวป่วยจะผอมลงแต่ทรวงอกกับช่องท้องใหญ่ขึ้น และหากเชื้อลามเข้าไปเนื้อเยื่อประสาท ก็ทำให้แมวมีอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาทได้ อย่างเช่น สูญเสียการควบคุมการขับถ่าย สูญเสียการควบคุมการทรงตัว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยของสุขภาพแมวด้วย

    แมวที่มีความเสี่ยงจะป่วยเป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบนั้นมักจะเป็นแมวที่มีร่างกายไม่แข็งแรง อย่างแมวเด็ก แมวแก่ นอกจากนี้ยังสามารถเป็นอาการแทรกซ้อนในแมวที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเนื่องจากป่วยเป็นโรคอื่นอยู่ อย่างไรก็ตามโรคนี้เกิดได้ในแมวแบบไม่เกี่ยงเพศและสายพันธุ์ โดยแมวสามารถติดเชื้อระหว่างกันได้ จากการสัมผัสอุจจาระของแมวที่ป่วยหากมีการใช้กระบะทรายเดียวกัน

  1. โรคเอดส์แมว
    ไม่ใช่แค่เพียงคนเท่านั้นที่จะเป็นโรคเอดส์ได้ แต่แมวก็มีโรคเอดส์ของแมวเหมือนกัน ซึ่งโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส FIV กลุ่ม retrovirus ซึ่งแมวที่ติดเชื้อจะมีลักษณะอาการคล้ายกับโรคเอดส์ที่เกิดขึ้นในคน คือมีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย

    แมวที่ป่วยในระยะแรกจะยังไม่แสดงอาการออกมา ซึ่งถ้ามีเชื้ออยู่ในร่างกายก็สามารถแพร่ไปสู่แมวดีได้ เมื่อเข้าสู่ระยะแสดงอาการป่วย อาการที่สังเกตได้จากแมวที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ ให้สังเกตจากการทำงานของระบบปัสสาวะ ระบบทางเดินหายใจ ช่องปาก และเหงือก ต่อมน้ำเหลืองโต ป่วยง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนมากแมวจะมีอาการป่วยเรื้อรังและมีสามารถตายได้หลังจากป่วยไม่นาน

    การติดต่อ แมวดีจะติดเชื้อจากแมวป่วยได้ผ่านน้ำลายและเลือด รวมถึงติดต่อจากแม่แมวมาสู่ลูกแมวได้เหมือนกัน โรคนี้พบได้มากในแมวตัวผู้ที่มักจะชอบหนีออกไปเที่ยวนอกบ้าน หรือชอบไปมีเรื่องต่อสู้กับแมวอื่น ในแมวเพศเมียจะติดได้ในช่วงที่ติดสัด ส่วนการป้องกันโรคในแมวเลี้ยง สามารถทำได้โดยการพยายามเลี้ยงให้แมวอยู่ในระบบปิด ไม่ให้แมวออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ และ Sanook  

ขอบคุณรูปภาพจาก Sanook